RSS

หมอประเวส วะสี

พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง
โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี
นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์
สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา
ความดีก็มีปรากฏ กิติยศลือชา
ความชั่วก็นินทา ทุรยศยินขจร

– กฤษณาสอนน้องคำฉันท์ ทรงนิพนธ์โดย สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส
กฤษณาสนน้งคำฉันท์

คนดี และ ความดี

“ในระบบการศึกษา ควรทำ ‘แผนที่คนดี’ โดยค้นคว้าหาคนที่ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ ซึ่งมีอยู่ทั่วไปในแผ่นดิน ถ้าการศึกษาค้นคว้าหาคนที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบเหล่านี้ แล้วนำมาสื่อสารเรียนรู้ก็ดี จะขยายความดีให้เกิดขึ้นเต็มแผ่นดิน”
จากแนวคิดของศาสตราจารย์นายแพทย์ ประเวศ วะสี ทำให้เราตระหนักได้ว่า ความขัดแย้งรุนแรงของมนุษยชาติที่ก่อให้เกิดความแตกแยกเกลียดชังกระทั่งทำลายล้างกันนั้น น่าจะเกิดจากวิธีคิดและการก้าวเดินอันผิดพลาดของผู้คน ที่เอาแต่เสาะแสวงหาและยึดมั่นใน
– ความรู้ (Knowledge)
– อำนาจ (Power) และ
– เงิน (Money)
หรือรวมเรียกว่า K-P-M อันเป็น รหัสพัฒนาตามกระแสวัตถุนิยม แต่ในโลกยุคที่ข่าวสารข้อมูลอาจทันกันหมด เรามักพบว่าความรู้อันมหาศาลที่มีอยู่นั้นหาใช่จะก่อให้เกิดประโยชน์หรือปัญญาเสมอไป ไม่ บ่อยครั้งมันกลับนำมาซึ่งความไร้สติ และทำให้มนุษย์ไร้พลังจนไม่อาจต้านทานกิเลสหรือความเห็นแก่ตัวทั้งปวงได้ บุคคลที่มีความรู้ท่วมหัว (Knowledge) กลับตกเป็นทาสน้ำเงิน (Money) ของผู้มีอำนาจ (Power) หรืออาจใช้ความรู้นั้นแสวงหาเงินและอำนาจอย่างไร้แก่นสารไร้ความชอบธรรม ขณะโดยที่ระบบการศึกษาก็มุ่งเน้นแต่การผลิตบัณฑิตเพื่อรับใช้อำนาจรัฐและนายทุน โดยละเลยต่อการพัฒนาฐานรากที่สำคัญของสังคมไทย

ฐานรากที่แท้จริงของสังคมไทย หมายถึงอะไร?
หมายถึงผู้คนส่วนใหญ่ของประเทศ ซึ่งก็คือ ปู่ย่าตายาย พ่อแม่พี่น้องของเรา ในชุมชน ในท้องถิ่น ในชนบท … หากความรู้ที่มีท่วมท้นไม่ได้ถูกนำมารับใช้ชุมชนและท้องถิ่น ความรู้นั้นก็น่าจะถือว่าสูญเปล่า เพราะโครงสร้างทั้งหมดของสังคมย่อมเสี่ยงต่อการล้มครืนหากฐานรากไม่ได้รับการดูแลเอาใจใส่ จนเปราะบางและอ่อนแอ
ความรู้ที่สำคัญยิ่งสำหรับสังคมเรานั้น ใช่จะมีเพียงทฤษฎีจากอารยธรรมตะวันตก หากยังมีความรู้ของท้องถิ่นที่เราอยู่อาศัยมาตั้งแต่อ้อนแต่ออกจนเติบใหญ่ ซึ่งล้วนเป็นความรู้ความสามารถอันเกิดจากการลงมือปฏิบัติอย่างจริงจัง บวกกับประสบการณ์และการลองผิดลองถูกของผู้คนที่ผ่านร้อนผ่านหนาว กระทั่งเคี่ยวกรำจนกลายเป็นความชำนาญ ไม่ว่าจะเป็นคุณยายขายแกงสูตรเด็ด คุณอาลวกบะหมี่หอมกรุ่น คุณน้าช่างเสริมสวย คุณป้าทำขนมไทย คุณตาทำสวนผัก ฯลฯ
การร่วมแบ่งปันและสืบทอดภูมิปัญญาชาวบ้านเหล่านี้ กล่าวไปก็คือการหวนคืนสู่วิถีชีวิตแห่งการพึ่งพาอาศัยกัน เอื้ออาทรต่อกันในสังคมที่ร่มเย็นและสงบสุข ซึ่งบางคนอาจมองว่าเหมือนการถอยหลังเข้าคลอง ทว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ มีพระราชกระแสรับสั่งว่า
“เราควรถอยหลังเข้าคลอง เพราะคลองคลื่นลมสงบ มีความปลอดภัย เพราะถ้าออกไปในทะเลคลื่นลมแรง เรืออาจล่ม”
“ใครว่าเชยก็ช่างเขา ขอให้เราพออยู่พอกิน และมีไมตรีจิตต่อกัน”
“สังคมไทยอยู่ได้ เพราะมีการให้”

ศ.นพ. ประเวศ วะสี กล่าวด้วยว่า “การพัฒนาตามอารยธรรมตะวันตกกำลังพาโลกเข้าไปสู่ความเสื่อมเสียทางศีลธรรม ความเจ็บป่วยและวิกฤตการณ์มากขึ้นทุกทีๆ เพราะใช้เงินเป็นตัวตั้ง แนวทางการพัฒนาของพระเจ้าอยู่หัวอาจเรียกว่า เอาความดีเป็นตัวตั้ง เพื่อการอยู่ร่วมกัน โดยใช้ความรู้ ซึ่งอาจเขียนเป็นรหัสพัฒนาว่า G-C-K อันหมายถึง
– ความดี (Goodness)
– วัฒนธรรม, การอยู่ร่วมกัน (Culture, Community)
– ความรู้ (Knowledge)
จึงควรสนใจศึกษาหาความหมายเชิงลึกของแนวทางการพัฒนาของพระเจ้าอยู่หัวให้ดี เพราะอาจพบ “รหัสพัฒนาใหม่” ที่ช่วยให้โลกรอดได้”
หากเราลองทบทวนดูจะพบว่า การศึกษาตามแนวอารยธรรมตะวันตกอันเป็นแนวทางแห่งการแสวงหา ความรู้ – อำนาจ – เงิน (มีความรู้เพื่อนำไปสู่อำนาจ จากนั้นใช้ความรู้และอำนาจเพื่อนำไปสู่เงิน หรือใช้อำนาจและเงินนำไปสู่การแสวงหาความรู้เพื่อกลับมากอบโกยทั้งเงินและอำนาจให้พอกพูนขึ้นอีก) นั้น ก่อให้เกิดวงจรอุบาทว์ที่นำมาซึ่งความเห็นแก่ตัว การแย่งชิงเอารัดเอาเปรียบ และความ “ไม่ดี”นานัปการ เช่น ช่องว่างระหว่างคนรวยและคนจนที่ถ่างกว้างขึ้น การทำลายสิ่งแวดล้อมอย่างมหาศาล เกิดวิกฤตทางสังคมอย่างเรื้อรังและรุนแรงขึ้นทุกขณะ ตั้งแต่ระดับครอบครัว ประเทศ ไปจนถึงระดับโลก
ปราชญ์ตะวันออก เช่น ท่านทะไลลามะ เคยกล่าวว่า “โลกนี้กำลังต้องการการปฏิวัติทางจิตวิญญาณ” ส่วนท่านพุทธทาสกล่าวว่า “ปัจจุบันรุนแรงมาก ไม่มียาขนานใดจะรักษาได้ นอกจากโลกุตรธรรม ถ้าศีลธรรมไม่กลับคืนมา โลกาวินาศ” หรือแม้แต่ปราชญ์ตะวันตกในยุคนี้ เช่น Laszlo, Grof และ Russell ก็มีทัศนะว่า อารยธรรมตะวันตกกำลังพาโลกสู่วิกฤตรุนแรง ซ้ำยังไม่มีหนทางแก้ไข เว้นแต่จะมีการปฏิวัติจิตสำนึกเสียใหม่
จะเห็นได้ว่า แนวคิดเหล่านี้ล้วนมุ่งเน้นให้ความสำคัญแก่การฟื้นฟูจิตวิญญาณอันดีงามที่มีมาแต่เดิม เพื่อแทนที่อารยธรรมวัตถุนิยม บริโภคนิยม และเงินนิยม ที่นับวันก่อให้เกิดปัญหาลุกลามไปทั่วโลก เราจึงต้องหันกลับมาพิจารณาอย่างจริงจังต่อ “รหัสพัฒนาใหม่ (Development code)” ซึ่งก็คือ การใช้ความดีนำหน้าความรู้ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ ความรู้มีไว้เพื่อรับใช้ความดี โดยแนวทางแห่งความดี ได้แก่
-มีความขยันหมั่นเพียร พึ่งตนเองได้
-มีความประหยัด อดออม
– มีความซื่อสัตย์สุจริต
– มีน้ำใจ และมีไมตรีต่อกัน
– อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
– อนุรักษ์วัฒนธรรม
– พัฒนาจิตใจให้สูงขึ้น
– มีการเรียนรู้เพื่อการเข้าถึงความดี
แนวทางแห่งความดีของ “คนดี” นอกจากจะทำให้หายจนแล้ว ยังทำให้ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับเพื่อนร่วมสังคมได้อย่างสมานฉันท์-สันติสุข
“ถ้าตั้งคำถามใหม่ ว่า “ความดีคืออะไร?” แทนที่คำถามเก่าว่า “ทำอย่างไรจึงรวย?” จะเกิดจิตสำนึกใหม่”
“การตั้งคำถามว่า ความดีคืออะไร ซ้ำๆ อยู่ทุกวี่ทุกวัน ความรู้สึกนึกคิดก็จะเปลี่ยนไป แล้วจะไปปรับวิถีชีวิต ปรับการศึกษา ปรับความสัมพันธ์ ซึ่งโน้มนำไปสู่วิถีทางแห่งความพอเพียงมากขึ้นเรื่อยๆ”

รหัสพัฒนาของคนดี ยังรวมถึง C (Culture, Communities) นั่นคือ การมีวัฒนธรรมการอยู่ร่วมกัน
จะสังเกตได้ว่า คนดีมักเป็นผู้ที่อยู่กับเพื่อนร่วมชุมชนได้อย่างผาสุก เพราะเหตุว่า คนดีเป็นผู้ที่มีจิตใจที่ดีงาม, เสียสละเพื่อผู้อื่นเสมอ พยายามทำทุกอย่างด้วยความไม่เห็นแก่ตัว ไม่เอารัดเอาเปรียบผู้อื่น ดังนั้น ในยามที่เขาจะทำกิจกรรมเพื่อการกุศล เพื่อส่วนรวม หรือแม้แต่จะขอความช่วยเหลือใดๆ ผู้คนในชุมชนก็มักจะเฮละโลมาช่วยกันอย่างเต็มที่ ทำให้กิจกรรมทุกอย่างสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี คนดีจึงเป็นศูนย์รวมน้ำใจอันมีคุณค่าต่อสังคมอย่างอเนกอนันต์
สิ่งเหล่านี้เอง คือ ความดี ความงดงาม ที่ทั้งตนเองและผู้อื่นจะสัมผัสได้ ก่อให้เกิดวัฒนธรรมของการเอื้อเฟื้อดูแลช่วยเหลือซึ่งกันและกัน และทำให้ความปิติสุขนี้แผ่ขยายไปทั่วท้องถิ่น สังคม ประเทศ และทั้งโลก

ความหมายอันชัดเจนและลึกซึ้งของ “คนดี” นั้น เรายังศึกษาได้จากความหมายในแง่มุมพุทธศาสนา หัวข้อ มรรคมีองค์ 8 หรือหนทางอันประเสริฐ ซึ่งได้แก่
1. สัมมาทิฐิ (Right View) มีความคิดที่ถูกต้องตามทำนองคลองธรรม เช่น “ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว” (ไม่ใช่ “ทำดีได้ดีมีที่ไหน ทำชั่วได้ดีมีถมไป”) หรือ “มีบุญคุณต้องทดแทน มีแค้นต้องอภัย” (ไม่ใช่ “มีบุญคุณไม่ทดแทน มีแค้นต้องชำระ”) สิ่งนี้ทำให้เรามีจิตใจมั่นคงในการทำความดี ไม่หวั่นไหวต่ออุปสรรคใดๆ และไม่ทำชั่วแม้ในที่ลับตาคน
2. สัมมาสังกัปปะ (Right Thought) มีความดำริ (ความคิดเห็น) ชอบ หรือใฝ่ใจในทางที่ถูกที่ควร คือมีความคิดความเห็นที่จะทำจิตของตนให้เป็นอิสระจากกองกิเลส เช่น พยายามรู้ตัวและไม่ปล่อยใจให้หลงเพริดไปกับรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ไม่ผูกใจอาฆาตพยาบาทใคร ไม่เอารัดเอาเปรียบหรือเบียดเบียนผู้อื่น
3. สัมมาวาจา (Right Speech) มีการเจรจาชอบ คือ ไม่ใช้วาจาที่เป็นพิษ เช่น ด่าทอหยาบคาย นินทาว่าร้าย ยุแหย่ให้เกิดความเกลียดชังแตกแยก หรือพูดจาไร้สาระ สัมมาวาจาคือการเป็นคนพูดจริง ไม่กลิ้งกลอกโกหก ทั้งยังมีวาจาท่าทีสุภาพอ่อนโยน ซึ่งจะทำให้ผู้ที่สนทนาด้วยเกิดความยินดี อยากร่วมมือร่วมใจกันเพื่อทำ
ความดีและมีความปิติที่ได้เสียสละเพื่อส่วนรวม
4. สัมมากัมมันตะ (Right Action) มีการกระทำชอบ และหลีกเลี่ยงการกระทำที่เลวร้ายทั้งปวง เช่น ลักทรัพย์, ประพฤติผิดในกาม, ทำร้ายคน ทำร้ายสัตว์, ฆ่าคน ฆ่าสัตว์
5. สัมมาอาชีวะ(Right Livelihood) มีการเลี้ยงชีพชอบ เลือกทำอาชีพที่ไม่ผิดศีลธรรม โดยเฉพาะไม่ข้องเกี่ยวกับมิจฉาอาชีวะ 5 ประการที่พระพุทธเจ้าทรงห้าม คือ
– ขายเครื่องประหาร เช่น ปืน, ดาบ, เครื่องจับปลา, เครื่องมือดักสัตว์
– ขายมนุษย์ เช่น จับคนเรียกค่าไถ่, จับมาเป็นทาส, ทำธุรกิจเกี่ยวกับการจัดหาโสเภณี
– ขายสิ่งเสพติด เช่น ยาเสพติด, สุรา
– ขายสัตว์สำหรับฆ่าทำอาหาร
– ขายยาพิษ รวมทั้งยาฆ่าสัตว์ เช่น ยาฆ่าแมลง, ยาเบื่อหนู ฯลฯ
6. สัมมากายานะ (Right Effort) มีความเพียรชอบ ดังพระพุทธวจนะที่ว่า “บุคคลจะล่วงทุกข์ได้ เพราะความเพียร” หมายถึง เป็นผู้ที่มีความพากเพียรอดทนและมั่นคงในการทำความดี เพิ่มพูนและรักษาคุณความดีตลอดไป
7. สัมมาสติ (Right Mindfulness) การตั้งสติชอบ เป็นผู้ที่รู้ตัวอยู่เสมอว่าขณะนี้ตนเองกำลังทำอะไร และจะทำอะไรต่อไป จะลุกเดินนอนนั่งก็รู้ตัวทั่วพร้อมอยู่เสมอ ไม่ปล่อยตัวปล่อยใจให้เผอเรอเลื่อนลอยไร้สติ หรือคืออะไรๆ เรื่อยเปื่อยจนจิตใจฟุ้งซ่าน
8. สัมมาสมาธิ (Right Concentration) มีสมาธิชอบ เป็นผู้ที่ฝึกจิตให้ตั้งมั่น มีดวงจิตมั่นคง มีสมาธิไม่วอกแวกหวั่นไหวง่าย แม้มีเหตุการณ์ภายนอกมากระทบสัมผัสก็รักษาความสงบปกติของจิตไว้ได้ แม้รอบข้างจะมีเสียงดังอึกทึกหรือมีสิ่งยั่วเย้าอย่างไรก็พยายามรวบรวมสมาธิ พุ่งเพ่งแต่ในสิ่งที่ตนกำลังมุมานะโดยไม่สับส่าย (เช่น กำลังทำงาน อ่านตำรา เรียนหนังสือ)

แหล่งข้อมูล
พระเจ้าอยู่หัว กับ รหัสพัฒนาใหม่ … ศ.นพ.ประเวศ วสี
ความเป็นมนุษย์ กับการเข้าถึงสิ่งสูงสุด …ศ.นพ.ประเวศ วสี
เศรษฐกิจพอเพียงภาคปฏิบัติ … ศ.นพ.ประเวศ วสี
ยุทธศาสตร์สังคมคุณธรรม … ศ.นพ.ประเวศ วสี
แบบเรียนศีลธรรม (ส 442) …อาจารย์ชำนาญ นิศารัตน์

ที่มา
http://fuse.in.th/

 

3 responses to “หมอประเวส วะสี

  1. พระฉัตรดนัย

    วันเสาร์, สิงหาคม 16, 2008 at 4:44 PM

    อยากขอทราบยุทธศาสตร์การสร้างครอบครัวเข้มแข็ง

     
  2. panop

    วันศุกร์, ตุลาคม 30, 2009 at 12:42 PM

    ขออนุญาตนำข้อความในลิงค์นี้
    ไปโพสท์ไว้ที่ http://www.budpage.com/forum/view.php?id=5419 นี่ด้วยนะคะ

    ขอบพระคุณค่ะ

     
  3. ธรรมธัช

    วันพฤหัสบดี, พฤษภาคม 3, 2012 at 10:34 AM

    ผมขอกราบเรียนถามท่านหน่อยครับ ในฐานะที่ท่านเป็นประธานมูนิธิหอจดหมายเหตุท่านพุทธทาส
    การที่หอจดหมายเหตุท่านพุทธทาสร่วมสังฆกรรมและอนุญาติให้หมู่บ้านพลัมนำพระสงฆ์นิกายเซ็นที่นำโดยท่าน ติช นัท ฮัน มาร่วมทำกิจกรรมที่หอจดหมายเหตุท่านพุทธทาส หรือไปร่วมกิจกรรมกันข้างนอกก็แล้วแต่ มันมีความเหมาะสมแล้วหรือครับ ?

     

ส่งความเห็นที่ panop ยกเลิกการตอบ